“บวบเหลี่ยม” มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ไฟเบอร์สูง ใครท้องผูกบ่อยๆต้องกิน
“บวบ” มีหลายชนิดที่นำมาประกอบอาหารได้ แต่บวบที่คนทานมากที่สุดคือบวบเหลี่ยม เนื่องจากมีผลิตผลให้ทานตลอดทั้งปี ในขณะที่บวบชนิดอื่นให้ผลแค่บางฤดูกาลเท่านั้น
บวบเหลี่ยม เป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งของคนไทย นิยมปลูกไว้ตามบ้าน เป็นทั้งรั้วและอาหาร สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ นอกจากสารอาหารดีๆ แล้ว วันนี้เรามาดูกันดีกว่า บวบเหลี่ยม มีสรรคุณและประโยชน์อย่างไรบ้าง
ต้นกำเนิดของบวบเหลี่ยม
บวบเหลี่ยม ( Angled Gourd ) มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Luffa acutangula Roxb. จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae หรือวงศ์แตง มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินเดีย เนื่องจากพบพืชป่าชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับบวบเหลี่ยมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศอินเดีย ปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์ไปตามพื้นที่เขตร้อนทั่วโลก แต่ว่าประเทศที่นิยมนำบวบเหลี่ยมมารับประทานคือ ไทย อินเดีย ฮ่องกง จีน เป็นต้น การขยายพันธุ์ทำได้โดยการเพาะเมล็ด สามารถเจริญเติบโตได้ง่าย ทนฝน ทนโรคและแมลง นอกจากเพาะพันธุ์เองแล้วก็ยังพบได้ทั่วไปตามพื้นที่ใกล้ๆ แหล่งน้ำ
ลักษณะทางพันธุศาสตร์
ราก เป็นระบบรากแก้ว รากมีลักษณะกลมยาว แทงลึกลงไปในดิน มีรากแขนงและรากฝอยงอกอยู่รอบลำต้น
ลำต้น เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุก อายุสั้นเพียง 1 ปี ลำต้นมีลักษณะเป็นเถาเลื้อยเกาะไปตามต้นไม้อื่นหรือเลื้อยตามพื้นดิน เถาเป็นเหลี่ยม เหนียวและแข็ง เปลือกเถาสีเขียว มีขนหยาบๆปกคลุม ปลายยอดอ่อนนุ่ม มีมือเกาะเล็กๆงอกเป็นระยะๆ ตลอดความยาวเถา
ใบ เป็นใบเดี่ยว มีลักษณะเป็นรูป 5-7 เหลี่ยม โคนใบเว้าเข้า ปลายใบแหลม คล้ายรูปหัวใบ ขอบใบหยักแหลมเล็กน้อยไม่เรียบ ผิวใบและท้องใบขรุขระเล็กน้อย มีขนอ่อนๆ ปกคลุม เส้นใบมีจำนวนมากคล้ายร่างแห ก้านใบยาว
ลักษณะของบวบเหลี่ยม
ดอก ออกดอกเดี่ยวๆ โดยดอกตัวผู้และตัวเมียแยกกันอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้ออกเป็นช่อตามซอกกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองเข้ม มี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน กลีบเลี้ยงสีเขียว มี 5 กลีบเช่นเดียวกัน ผิวกลีบเลี้ยงมีขนอ่อนปกคลุม ส่วนดอกตัวเมียจะเป็นดอกเดี่ยว ลักษณะดอกคล้ายดอกตัวผู้ เพียงแต่ว่าจะมีรังไข่คล้ายๆ ลูกบวบเล็กติดอยู่ด้านใต้ ซึ่งก็จะเจริญไปเป็นผลบวบในเวลาต่อไป
ผล เป็นรูปทรงกระบอก ขนาดสั้นกว่าบวบกลม ปลายผลใหญ่ โคนผลเรียวเล็กกว่า ผิวจะมีสันที่แข็งและคมประมาณ 8-10 สัน โดยยาวตลอดความยาวผล ผิวเปลือกแข็งและหนา สีเขียวขรุขระเล็กน้อย เนื้อด้านในสีขาวฉ่ำน้ำ มีไส้ในและเมล็ดจำนวนมากเรียงกันอยู่ ผลอ่อนรสชาติหวานกรอบ นิยมนำมาประกอบอาหาร ผลแก่เนื้อมีรสขม นิยมปล่อยให้แห้งแล้วนำเมล็ดมาขยายพันธุ์ต่อไป
เมล็ด รูปร่างแบนรี เมล็ดอ่อนสีขาวหรือเหลืองอ่อน เมล็ดแก่สีดำ ผิวเปลือกเมล็ดแข็งและขรุขระ
10 สรรพคุณของบวบเหลี่ยม
1. บวบช่วยคลายร้อน บวบเป็นที่มีฤทธิ์เย็น เนื้อชุ่มฉ่ำน้ำ ทานแล้วช่วยดับร้อน แก้ร้อนใน ดับกระหาย
2. บวบช่วยแก้หวัด ช่วยลดไข้ แก้ปวดหัว แก้หวัด ขับเสมหะ บรรเทาอาการเจ็บคอ ทำให้ชุ่มคอ ช่วยรักษาโพรงจมูกที่อักเสบ
3. บวบแก้ท้องผูก เพราะมีไฟเบอร์สูงมาก เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยให้อุจจาระนิ่มลง ขับถ่ายได้ง่าย รักษาโรคริดสีดวง และยังช่วยขับปัสสาวะด้วย
4. บวบช่วยบำรุงฟัน มีฟอสฟอรัสสูง มีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
5. บวบบำรุงเลือด บวบอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ช่วยเสริมสร้างการทำงานของเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง
6. บวบบรรเทาอาการปวดฟัน นำเมล็ดหรือเถาบวบไปเผาแล้วบดเป็นผง มาทาบริเวณที่ปวด ทำให้ปวดฟันหรือเสียวฟันน้อยลงได้
7. บวบช่วยขับพยาธิ นำเมล็ดแก่จัดมาบดเป็นผงทาน อาจจะบรรจุในแคปซูลก็ได้เพื่อให้ทานง่าย เด็กควรทานประมาณ 30 เมล็ด ส่วนผู้ใหญ่ทาน 40-50 เมล็ด
8. ขวบช่วยขับเลือด ช่วยบำรุงเลือดลมให้ไหลเวียนสะดวก หากใครประจำเดือนมาไม่ปกติ การรับประทานบวบจะช่วยให้ประจำเดือนมาตรงเวลามากขึ้น
9. บวบช่วยถอนพิษ ใช้ถอนพิษจากแมงสัตว์กัดต่อย ผื่นคันตามผิวหนัง โรคผิวหนังเช่นกลากหรือเกลื้อน โดยการนำใบสดมาบดแล้วพอกบริเวณที่มีอาการ
10. บวบช่วยบำรุงน้ำนม คุณแม่หลังคลอดบุตรแนะนำให้นำบวบมาปรุงอาหารรับประทานบ่อยๆ จะทำให้มีปริมาณน้ำนมมากขึ้น
ประโยชน์ของบวบเหลี่ยม
นำมารับประทาน บวบเหลี่ยมนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด ไม่ว่าจะต้ม ผัด แกง ห่อหมก มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปวิตามิน แร่ธาตุและใยอาหาร ช่วยบำรุงร่างกาย
ใยบวบ ประโยชน์ของบวบ
ใยบวบ มีลักษณะหนาแข็งแรงและค่อนข้างเหนียว ทนต่อแรงกระแทก ทนความร้อนได้ดี จึงเหมาะสำหรับนำมายัดหมอน ยัดเบาะ ใช้ทำเป็นที่จับของร้อน เช่น หม้อน้ำรถยนต์ หม้อปรุงอาหาร เป็นต้น สามารถเอามาถักทอเป็นเครื่องสาน หรือจะนำไปทำกระดาษก็ได้เพราะมีเส้นใยเยอะมาก นอกจากนี้ยังนำมาขัดถูทำความสะอาดพวกเครื่องเงิน เครื่องแก้ว รถยนต์ เครื่องตัว เอามาขัดตัวก็ได้เช่นกัน แต่มาเป็นที่นิยมมากนัก เพราะบวบเหลี่ยมมีใยแข็ง เอาเนื้อออกยาก (ใยบวบที่มักนำมาใช้ขัดตัว ทำจากใยบวบหอม)
ข้อควรระวังในการรับประทานบวบ
หากจะรับประทานเมล็ดบวบในลักษณะเป็นยา ให้ระวังไม่ทานมากจนเกินไป เมล็ดบวบที่มีรสขม มีสาร Elaterin ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย หากทานไม่ระวังอาจจะท้องเสียและอาเจียนอย่างรุนแรงได้
การเลือกซื้อบวบ
เลือกบวบที่มีขั้วติดแน่นที่ผล สีเขียวสดใส ผิวบวบต้องไม่ช้ำ ไม่มีรอยดำเปลือกแน่นสีเขียว กดแล้วไม่ยุบ ผลไม่หักหรืองอ ส่วนสันต้องเป็นเหลี่ยมคมเสมอกัน
บวบ ปรุงอาหารยังไงให้หวานอร่อย
เทคนิคการใช้บวบประกอบอาหารให้มีรสหวานธรรมชาติคงเดิมคือ ไม่ต้องปอกเปลือกออกทั้งหมด เพียงแค่ใช้มีดปาดสันของบวบออกเท่านั้น ไม่ว่าจะต้ม ผัด หรือใส่แกง บวบจะไม่เสียรสชาติเดิมๆ ไป รวมทั้งยังคงคุณสารอาหารที่ใกล้เคียงกับตอนยังเป็นผลสดด้วยค่ะ
วิธีเก็บรักษาบวบเหลี่ยม
นำบวบมาล้างให้สะอาด จากนั้นผึ่งหรือเช็ดให้แห้งสนิท แล้วห่อด้วยกระดาษหรือผ้าแห้ง เก็บใส่ถุงหรือกล่องที่แห้งสนิท นำไปแช่ตู้เย็น จะสามารถเก็บได้นาน
ได้รู้จักสรรพคุณ ประโยชน์ของบวบเหลี่ยมกันไปแล้ว อย่าลืมนำมาปรุงอาหาร เพิ่มไฟเบอร์ให้ร่างกาย ช่วยในการขับถ่ายกันด้วยนะค่ะ
ที่มา...https://sukkaphap-d.com
“บวบเหลี่ยม” มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ไฟเบอร์สูง ใครท้องผูกบ่อยๆต้องกิน
Reviewed by Dusita Srikhamwong
on
มิถุนายน 10, 2562
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: