หมาน้อย สมุนไพรพื้นบ้าน กินช่วยแก้ร้อนใน ลดไข้ ขับสารพิษ พร้อมวิธีปรุงเมนูอร่อยแบบบ้านๆ




หมาน้อย สมุนไพรพื้นบ้าน กินช่วยแก้ร้อนใน ลดไข้ ขับสารพิษ พร้อมวิธีปรุงเมนูอร่อยแบบบ้านๆ

หมาน้อย เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ชื่อหลักคือ กรุงเขมา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cissampelos pareira; อ่านว่า กรุง-ขะ-เหมา) เป็นพืชในวงศ์บอระเพ็ด (Menispermaceae) ประเทศไทยพบในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากสรรพคุณทางยาแล้ว เราสามารถนำหมาน้อยมาปรุงแต่งเป็นอาหารรสอร่อยได้อีกด้วย

หมาน้อย มีลักษณะเป็นไม้พุ่มแกมเลื้อย ลำต้น คล้ายใบเรียวยาว มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นถึงประปรายถึงเกลี้ยง ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้าง โคนใบกลม ตัดหรือรูปหัวใจ ปลายใบมนถึงแหลมแกมเรียวแหลม ท้องใบมีขนสั้นนุ่มหรือมีขนประปราย ผิวใบมีขนสั้นนุ่มประปราย หรือมีขนประปราย ก้านใบมีขนสั้นนุ่ม หรือมีขนประปราย ยาว 2-9 เซนติเมตร ยืดยาวจากโคนใบ ดอก ช่อแยกเพศ ออกที่ซอกใบ ผล เมล็ดเดียวแข็ง สีส้มหรือแดง มีขนสั้นนุ่ม ออกดอกเดือน มีนาคม-ธันวาคม และติดผลเดือนเมษายน-มกราคม

สรรพคุณทางยาของหมาน้อย หรือ กรุงเขมา

ทั้งต้นกรุงเขมามีรสขม ชุ่มหวานเล็กน้อย เป็นยาอุ่น ใช้เป็นยาฟอกเลือด กระจายเลือด แก้เลือดกำเดา (ทั้งต้น) หรือใช้รากเป็นยาแก้โลหิต กำเดา (ราก)

เปลือกและแก่นเป็นยาบำรุงโลหิต (เปลือกและแก่น) ลำต้นใช้เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี (ลำต้น)

เนื้อไม้ใช้เป็นยารักษาโรคโลหิตจาง (เนื้อไม้)

รากมีกลิ่นหอม รสสุขม ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นยาเจริญอาหาร เป็นยาบำรุง (ราก) หมอยาไทยจะใช้รากนำมาทำให้เป็นผงละลายกับน้ำผึ้งกิน หรือขยี้กับน้ำ ดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ รวมทั้งใช้รากเป็นส่วนประกอบในแป้งเหล้า โดยเชื่อว่าจะช่วยบำรุงร่างกาย (ราก)

ใช้เป็นยาสงบประสาท (ราก)

หมอยาไทยใหญ่จะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาลดความดันโลหิต ส่วนหมอยาพื้นบ้านบราซิลก็ใช้กรุงเขมาในสรรพคุณนี้เช่นกัน โดยใช้ราก ต้น เปลือก และใบนำมาต้มกิน เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง (ทั้งต้น)

รากใช้เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (ราก)

ตำรายาไทยจะใช้เป็นยาแก้ไข้ (เปลือกและแก่น, ราก, ทั้งต้น) รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ เป็นยาลดไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ไข้ออกตุ่ม และแก้อาการไอ เจ็บคอ ไอเจ็บหน้าอก เป็นยาขับเหงื่อ (ราก)

ลำต้นใช้เป็นยาดับพิษไข้ทุกชนิด (ลำต้น)

ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน (ใบ, ส่วนเหนือดิน)

ยาจีนจะใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้ลมชื้น หรือโรคหัวใจ (ทั้งต้น)

รากใช้เป็นยาแก้โรคตา (ราก) ส่วนลำต้นใช้เป็นยาพอกแก้ตาอักเสบ (ลำต้น)

ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด (ใบ)

ใช้เป็นยาแก้ลม (ราก)

ใช้เป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะ (ราก)

ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (ราก)

เนื้อไม้ใช้เป็นยารักษาโรคปอด (เนื้อไม้)

หมอยาไทยเลยจะใช้รากกรุงเขมานำมาต้มกินเป็นยารักษาระบบทางเดินอาหารในหลาย ๆ อาการ เช่น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ, จุกท้อง, แก้ท้องบิด, ท้องเสีย, ท้องร่วง, ปวดท้อง, แก้เจ็บท้อง (อาการปวดเกร็งที่ท้อง), แก้กินผิด (อาการวิงเวียนศีรษะหลังกินอาหารบางชนิด), แก้ถ่ายเป็นเลือด บ้างว่าใช้เป็นยาระบาย ยาช่วยย่อย ยาถ่าย ใช้เคี้ยวแก้ปวดท้องและโรคบิด (ราก)

หมอยาพื้นบ้านในอเมริกาใต้จะใช้รากเป็นยาต้านอาการปวดเกร็งทั่วไป โรคลำไส้อักเสบ ใช้รักษาโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome - IBS) เป็นต้น

รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขัดเบา ระบายนิ่ว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ราก)

ใช้เป็นยาบำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง ช่วยรักษาโรคหนองใน (ราก)

ชนเผ่า Creoles ใน Guyana จะแช่ใบ เปลือก ราก ในเหล้ารัมเพื่อเป็นยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศ (ราก, เปลือก, ใบ)


หมอยาไทยพวนจะใช้รากฝนกินกับน้ำเป็นยาแก้ปวดประจำเดือน แก้ไข้ทับระดู ช่วยปรับสมดุลของประจำเดือนให้เป็นปกติทั้งอาการที่มีประจำเดือนมากหรือน้อย ซึ่งคล้ายกับการใช้ของหมอยาพื้นบ้านในประเทศในแถบอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ โดยหมอยาเหล่านั้นจะใช้ เถา ราก ใบ และเปลือกของกรุงเขมาเป็นยาระงับอาการปวดทั้งก่อนคลอดและหลังคลอดบุตร ใช้รักษาอาการตกเลือดหลังคลอด ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบประจำเดือนของผู้หญิง เช่น อาการปวดประจำเดือน มีประจำเดือนมามากจนเกินไป อาการไม่สบายก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome - PMS) รวมไปถึงสิวที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน โดยมีความเชื่อว่าสมุนไพรชนิดนี้สามารถปรับสมดุลฮอร์โมนของเพศหญิงได้ (เถา, ราก, ใบ, เปลือก)

รากใช้เป็นยาขับระดู (ราก)  ต้น เปลือกและแก่นใช้เป็นยาแก้ระดูพิการของสตรี (ต้น, เปลือกและแก่น)

หมอยาไทใหญ่จะใช้รากของกรุงเขมาหรือเครือหมาน้อยนำมาต้มกินไปเรื่อย ๆ แทนยาคุมกำเนิด (แต่ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะในปัจจุบันมียาคุมกำเนิดที่ดีอยู่แล้ว) (ราก)

ใช้เป็นยาแก้ถุงน้ำดีรั่ว ดีล้น ดีซ่าน (ราก, ทั้งต้น)

ส่วนเหนือดินใช้เป็นยาแก้โรคตับ (ส่วนเหนือดิน)

ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ราก)

ใช้เป็นยาขับน้ำเหลืองเสีย (ราก)

รากและใบใช้เป็นยาพอกเฉพาะที่ แก้หิด โรคผิวหนัง (รากและใบ) หมอยาพื้นบ้านจะนำใบมาขยี้ให้เป็นวุ้นใช้เป็นยาพอกรักษาฝี แก้หิด แก้ผดผื่นคัน รวมทั้งจากแมลงสัตว์กัดต่อย อาการแสบร้อนตามผิวหนัง อาการอักเสบของผิวหนัง พอกแผล แก้แผลมะเร็ง ช่วยลดอาการบวมตามข้อ (ใบ)

พ่อหมอประกาศ ใจทัศน์ ที่บ้านน้อมเกล้า จังหวัดยโสธร จะใช้รากฝนกับน้ำมะพร้าวให้กินแทนน้ำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประดงไฟ ซึ่งมีลักษณะอาการออกร้อนตามตัว หรือที่ภาษาแพทย์เรียกว่า Burning sensation (ราก)

ใช้เป็นยาห้ามเลือด สมานแผล (ทั้งต้น)  รากมีสรรพคุณเป็นยาสมาน (ราก)

ใช้เป็นยาแก้ปวด ในยาจีนใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ปวดเอว ภายนอกใช้เป็นยาแก้ปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว คล้ายกล้ามเนื้อ (ทั้งต้น)[1] ส่วนหมอยาพื้นบ้านจะใช้รากเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามตัว แก้ปวดหลังปวดเอว แก้บวม โดยจะฝนกินหรือต้มกินก็ได้ จะใช้เดี่ยว ๆ หรือใช่ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นก็ได้เช่นกัน ส่วนหมอยาพื้นบ้านชาวบราซิลจะใช้เป็นยาแก้ปวด แก้ไข้ (ราก) และหมอยาพื้นบ้านชาวอินเดียจะใช้การต้มใบและเถากินเป็นยาแก้ปวด (ใบและเถา)

ในอินเดียจะใช้กรุงเขมาเป็นยารักษาโรคธาตุอ่อน ทางเดินปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)

ในตำราโอสถพระนารายณ์ กรุงเขมาจัดเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในตำรับยาสำหรับแก้เตโชธาตุพิการ ซึ่งประกอบไปด้วยโกฐสอ โกฐเขมา รากพิลังกาสา รากกรุงเขมา รากมะแว้งเครือ รากจิงจ้อใหญ่ ผลราชดัด ผลสรรพพิศม์ ผลสวาด ผลจันทน์เทศ จุกโรหินี มหาหิงคุ์ เทียนดำ และเทียนขาว อย่างละเท่ากัน นำมาทำเป็นจุลละลายกับน้ำนมโคหรือส้มมะงั่ว

หรืออีกสูตรในตำรับยาแก้ลมอัมพาตหรือลมไม่เดิน ด้วยการใช้รากกรุงเขมา 2 ส่วน, รากพริกไทย 2 ส่วน, ดีงูเหลือง 1 ส่วน และพิมเสน 1 ส่วน นำมาทำให้เป็นจุลละลายน้ำผึ้งรวงกินพอควร (ชยันต์ และคณะ, 2542) หรือในตำรายาโรคนิทาน ก็พบว่ามีการใช้สมุนไพรกรุงเขมาเป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาโรคหลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด อาการไอ จุกเสียด แน่นท้อง ท้องร่วง ริดสีดวง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด (เพ็ญนภา, กาญจนา, ม.ป.พ.)

ขนาดและวิธีใช้ : ใช้ทั้งต้น ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือนำมาบดให้เป็นผง หรือนำยาสดมาตำพอกแผลตามที่ต้องการ (ถ้าใช้กรุงเขมาแบบไม่ได้สกัด ส่วนมากแล้วจะนิยมใช้เป็นยารักษาภายนอกมากกว่า)

ขอบคุณภาพ : prapharat103

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้กับสตรีตั้งครรภ์

ในหมู่หมอยาพื้นบ้านแถบอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ได้นำสมุนไพรชนิดนี้มาใช้อย่างต่อเนื่อง นานนับพันปีจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่น่าแปลกใจว่าแม้จะอยู่กับคนละทวีปกับประเทศไทย แต่ก็มีการใช้ในสรรพคุณที่เหมือนๆ กันเป็นส่วนใหญ่

หมาน้อย-หมอน้อย ต่างถิ่นเรียกต่างกัน

• ภาคกลาง เรียกว่า ขงเขมา พระพาย

• ภาคตะวันตกเฉียงใต้ เรียกว่า ก้นปิด

• แม่ฮ่องสอน เรียกว่า เปล้าเลือด

• เพชรบูรณ์ เรียกว่า สีฟัน

• ร้อยเอ็ด เรียกว่า เถาหมาน้อย

• ภาคกลาง เรียกว่า ใบก้นปิด

 • ภาคใต้ เรียกว่า กรุงเขมา

หมาน้อย อร่อยพื้นบ้าน

ชาวอีสานจะเรียกต้นหมาน้อยว่า “เครือหมาน้อย” นำมาทำอาหารได้หลายอย่างทั้งของคาวและของหวาน เช่น นำมาปรุงผสมกับน้ำใบย่านางใส่ในป่นกบหรือป่นปลา  หรือนำมาทำเป็นของหวานประเภทวุ้น มักเรียกกันว่า “วุ้นหมาน้อย” เพราะจากการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาพบว่า ใบหมาน้อยมีสารจำพวกเพคติน เมื่อขยำกับน้ำทิ้งไว้สักพักจะแข็งตัวเป็นวุ้น

วิธีทำคือ เลือกใบเครือหมาน้อยที่โตเต็มที่แล้วประมาณ 10-20 ใบ ล้างใบแล้วนำมาขยี้กับน้ำสะอาด 1 ถ้วย เวลาขยี้ใบจะรู้สึกเป็นเมือกลื่นๆ เมื่อขยี้จนได้ใบสีเขียวเข้มให้กรองเอากากใบเครือหมาน้อยออก คั้นน้ำใบเตยใส่เพิ่มลงไปสักนิด เพื่อให้มีกลิ่นหอม เพิ่มความหวานด้วยน้ำตาลเล็กน้อย ใส่เกลือนิดหน่อยเพื่อช่วยให้วุ้นแข็งตัวเร็วขึ้น ทิ้งไว้สักพักจะได้วุ้นหมาน้อย รสชาติอร่อยมาก

เครือหมาน้อยอีกชนิดหนึ่งคือ หมอน้อย ชื่อหลักคือ กรุงบาดาล สามารถนำมาใช้ทำอาหารได้เช่นกัน วิธีทำคือ เลือกใบหมอน้อยที่แก่จัดลักษณะเป็นใบสีเขียวเข้มประมาณ 30 ใบ มาล้างทำความสะอาด ตั้งทิ้งไว้ให้พอหมาดๆ แล้วขยี้จนเหลือแต่เส้นใบ

จากนั้นนำใบย่านางที่ล้างทำความสะอาดแล้วประมาณ 10 ใบมาขยี้จนเหลือแต่ก้านใบเช่นกัน นำมาผสมกับน้ำใบหมอน้อย แล้วจึงกรองใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ปล่อยทิ้งไว้สักพัก น้ำหมอน้อยจะเริ่มจับตัวเป็นเจลลี่ และค่อยๆ จับตัวแข็งขึ้นเป็นก้อนวุ้น ให้ใช้มีดตัดเป็นชิ้นเล็กเหมือนลูกเต๋า แช่ไว้ในตู้เย็น เวลารับประทานจึงนำมาผสมกับน้ำเชื่อมและน้ำกะทิ ใส่น้ำแข็งเล็กน้อย เพียงเท่านี้ก็จะได้วุ้นหมอน้อยลอยแก้วไว้รับประทานคลายร้อน


ที่มา...https://www.haijai.com/4186/
หมาน้อย สมุนไพรพื้นบ้าน กินช่วยแก้ร้อนใน ลดไข้ ขับสารพิษ พร้อมวิธีปรุงเมนูอร่อยแบบบ้านๆ หมาน้อย สมุนไพรพื้นบ้าน กินช่วยแก้ร้อนใน ลดไข้ ขับสารพิษ พร้อมวิธีปรุงเมนูอร่อยแบบบ้านๆ Reviewed by Dusita Srikhamwong on มิถุนายน 20, 2562 Rating: 5


ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.