มะเขือขื่น ผลมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น กินเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือปลาร้า ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย




มะเขือขื่น ผลมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น กินเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือปลาร้า ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย

มะเขือขื่น (Cockroach berry) เป็นพืชพื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย เป็นพืชสมุนไพรที่นิยมรับประทานอย่างกว้างขวางเฉพาะถิ่นภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น รสชาติไม่อร่อย แต่นิยมรับประทานอย่างกว้างขวางเฉพาะถิ่นภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มะเขือขื่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum aculeatissimum Jacq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Solanum cavaleriei H. Lév. & Vaniot, Solanum khasianum C.B. Clarke) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE) เป็นมะเขือที่พบขึ้นตามป่าละเมาะ หรือที่รกร้างทั่วไป มีขนและหนามปกคลุมตามลำต้น ใบเดี่ยว ผิวใบทั้งสองด้านมีหนามและขนรูปดาว ดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ ออกตามซอกใบ กลีบดอกสีม่วง กลีบยับย่น เกสรตัวผู้มีอับเรณูสีเหลือง ส่วนผลมะเขือขื่น ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน เปลือกเหนียว ผลอ่อนผิวจะเรียบลื่นเป็นสีเขียวเข้ม มีลายขาวแทรก

ขณะที่เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลืองสด ชั้นเนื้อผลบางมีสีเขียวอ่อนอมสีเหลืองใส มะเขือขื่นจะมีกลิ่นเฉพาะ โดยจะมีรสขื่น ภายในผลจะมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปกลมแบนขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.8 มิลลิเมตร โดยจะติดผลช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

ตามรายงานระบุว่า ชาวขมุใช้ผลใส่แกงหรือเป็นผักจิ้ม ในลาวนำมาเจาะเอาแกนและไส้ออก หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แช่น้ำปูนใส นำไปยำกับหมูสับ ใส่ใบขิงซอย ชาวเผ่านิลกิริสใช้ผลรักษาฝีที่นิ้ว ในเนปาลใช้รากเป็นยาต้ม รักษาอาการไอ หอบหืด เจ็บหน้าอก

สรรพคุณของมะเขือขื่น

ผลมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล)

รากและผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้สันนิบาต (ราก, ผล)

ตำรายาไทยจะใช้รากเป็นยาแก้ไข้ที่มีพิษร้อน ช่วยกระทุ้งพิษไข้ (ราก)

ผลและรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ราก, ผล)

รากมีรสขื่นเอียน เปรี้ยวเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะและน้ำลาย โดยจะช่วยล้างเสมหะในลำคอ และทำให้น้ำลายน้อยลง ทำให้น้ำลายแห้ง (ราก)

ผลมีสรรพคุณเป็นยากัดเสมหะ (ผล)

ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ราก, ผล)

ใช้แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ราก 15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำอมในปาก (ราก)

รากใช้ฝนเป็นกระสายยาแก้เด็กเป็นโรคซาง ชัก (ราก)

ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)

รากใช้ปรุงร่วมกับยาอื่น เป็นยาแก้กามตายด้านและบำรุงความกำหนัดได้ผลดีในระดับหนึ่ง (ราก)

ใช้เป็นยาแก้อัณฑะอักเสบ ด้วยการใช้ 15 กรัม, หญ้าแซ่ม้า 15 กรัม และต้นทิ้งถ่อน นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)

ใบสดใช้ภายนอกนำมาตำพอกแก้พิษ แก้ฝีหนอง (ใบสด)

เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยารักษามะเร็งเพลิง (เมล็ด)

ช่วยแก้อาการปวดบวม ปวดหลัง ฟกช้ำดำเขียว และใช้เป็นยาขับน้ำชื้น (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)

ใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้น แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ไขข้ออักเสบ มือเท้าชา ด้วยการใช้ผลสดประมาณ 70-100 กรัม นำมาตุ๋นกับไตหมูรับประทาน (ผล)

เนื้อมะเขือขื่นสีเขียวนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้หยอดตา แก้พยาธิในตา (เนื้อผล)

สารสำคัญในมะเขือขื่น คือ สารอัลคาลอยด์ต่าง ๆ ในทางเภสัชกรรมล้านนา จะใช้สารดังกล่าวเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหลายชนิด เช่น ยาบำรุงกำลัง, ยาเสลด (ยาแก้เสมหะและรักษาตาต้อ), ยายางเหลืองมักเป็นขางเขี้ยนขาว (ยารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน), ยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้อาเจียน รักษาแผลเป็นหนองและหืด เป็นต้น

ในชนบททางภาคกลางของบ้านเรา จะใช้ใบปรุงเป็นยาร่วมกับใบสมุนไพรชนิดอื่น ๆ และยังเชื่อว่า ในท้องถิ่นและภาคอื่น ๆ ของไทย คงนำมะเขือขื่นไปใช้เป็นยารักษาโรคอีกมากมาย

แต่ในปัจจุบันยังขาดการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเป็นเอกสารเผยแพร่ ประกอบกับมียาแผนปัจจุบันเข้ามาแทน จึงทำให้มีการนำมะเขือขื่นมาใช้เป็นยาลดน้อยลง (ใบ)

ประโยชน์ของมะเขือขื่น

คนไทยนิยมนำผลมะเขือขื่นที่แก่แล้วมาใช้ปรุงเป็นอาหาร โดยจะใช้เฉพาะส่วนเปลือกและเนื้อเท่านั้น (แยกเมล็ดทิ้ง) โดยอาจนำมาใช้กินเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริกหรือปลาร้า มีบางครั้งจะใช้เนื้อผลในการปรุงเครื่องจิ้ม เช่น เยื่อเคยทรงเครื่อง ฯลฯ ปรุงอาหารกับส้มผัก เช่น ส้มผักบั่ว ส้มผักกาด หรือจะนำมาใช้ปรุงรสอาหารบางชนิด ฝานเปลือกใส่ในส้มตำอีสาน ส้มตำลาว

โดยรสขื่นจะช่วยลดความเค็มของปลาร้าได้ ทำให้ส้มตำมีรสกลมกล่อม หรือนำมาใช้ยำกับสาหร่าย ใช้ตำกับผลตะโกและมะขามที่เรียกว่าเมี่ยง

ส่วนในภาคกลางจะใช้เนื้อนำมาทำแกง เช่น แกงส้มมะเขือขื่น แกงป่าต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนชาวล้านนาจะใช้ผลอ่อนนำมารับประทานทั้งผล ใช้เป็นผักจิ้มและผักแกง นำมายำ (ส้าบ่าเขือแจ้) ใช้ใส่ในน้ำพริก (น้ำพริกอี่เก๋ น้ำพริกบ่าเขือแจ้) บ้างนำผลแก่ไปเผาให้สุกตำจนละเอียดแล้วผสมลงในเนื้อสับที่จะทำลาบเนื้อหมูหรือลาบเนื้อ โดยจะช่วยทำให้ลาบนั้นนุ่มเหนียวยิ่งขึ้น

อาจมีคนสงสัยว่า มะเขือขื่นที่ทั้งเหนียวและขื่นจะมีรสชาติอร่อยได้อย่างไร เพราะต่างจากมะเขือทั่วไปที่มีความกรอบและความหวาน

แต่ด้วยภูมิปัญญาบวกกับฝีมือคนไทย จึงทำให้ความขื่นและความเหนียวกลายเป็นอาหารที่อร่อยมีเอกลักษณ์ไปได้ เช่นเดียวกับชะอมที่ยังคงเป็นเสน่ห์สำหรับคนไทยนั่นเอง

มะเขือขื่น อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยคุณค่าทางโภชนาการของมะเขือขื่น ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย วิตามินซี 63 มิลลิกรัม, แคลเซียม 55 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม ฯลฯ


อ้างอิงข้อมูลบางส่วน...https://medthai.com/
มะเขือขื่น ผลมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น กินเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือปลาร้า ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย มะเขือขื่น ผลมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น กินเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือปลาร้า ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย Reviewed by Dusita Srikhamwong on กรกฎาคม 15, 2562 Rating: 5


ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.