เผย 10 วิธีกรวดน้ำให้เกิดบุญกุศลสูงสุด และส่งบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวร




เผย 10 วิธีกรวดน้ำให้เกิดบุญกุศลสูงสุด และส่งบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวร

การกรวดน้ำ เป็นการตั้งใจอุทิศผลบุญกุศลไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมไปกับการหลั่งรินน้ำเป็นเครื่องหมาย และเป็นเครื่องรวมกระแสจิตที่ตั้งใจอุทิศนั้นให้จิตแน่วแน่ มักจะมีผู้เข้าใจผิดอยู่เสมอว่า น้ำที่ใช้รินอยู่ในขณะอุทิศผลบุญกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับนั้น เป็นน้ำส่งไปให้ผู้ตายกิน ที่จริงไม่ใช่ น้ำเป็นเพียงสื่อ หรือสักขีพยานในการอุทิศส่วนบุญเท่านั้น.

๑. การกรวดน้ำมี ๒ วิธี คือ
– กรวดน้ำเปียก คือ ใช้น้ำเป็นสื่อ รินน้ำลงไปพร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย
– กรวดน้ำแห้ง คือ ไม่ใช้น้ำ ใช้แต่สิบนิ้วพนมอธิษฐาน แล้วอุทิศผลบุญกุศลไปให้

๒. การอุทิศผลบุญมี ๒ วิธี คือ
– อุทิศเจาะจง ได้แก่ การออกชื่อผู้ที่เราจะให้ท่านรับ เช่น ชื่อพ่อ แม่ ลูก หรือใครก็ได้
– อุทิศไม่เจาะจง ได้แก่ การกล่าวรวมๆ กันไป เช่น ญาติทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น ทางที่ถูกควรทำทั้งสองวิธี คือผู้ที่มีคุณหรือมีเวรต่อกันมาก เราก็ควรอุทิศเจาะจง ที่เหลือก็อุทิศรวมๆ

๓. น้ำกรวด ควรเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีสีและกลิ่น และเมื่อกรวดก็ควรรินลงในที่สะอาดและไปเทในที่สะอาด และที่สำคัญ อย่ารินลงกระโถนหรือที่สกปรก

๔. น้ำเป็นสื่อ ดินเป็นพยาน การกรวดน้ำมิใช่จะอุทิศไปให้ผู้ตายกินน้ำ แต่ใช้น้ำเป็นสื่อและใช้แผ่นดินเป็นพยาน ให้รับรู้ในการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล

๕. ควรกรวดน้ำตอนไหนดี? ควรกรวดน้ำทันทีในขณะที่พระอนุโมทนาหรือหลังทำบุญเสร็จ แต่ถ้าไม่สะดวกจะทำตอนหลังก็ได้ แต่ทำในขณะนั้นดีกว่า ด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ
– ถ้ามีเปรตญาติมารอรับส่วนบุญ ท่านก็ย่อมได้รับในทันที
– การรอไปกรวดที่บ้านหรือกรวดภายหลัง บางครั้งก็อาจลืมไป ผู้ที่เขาตั้งใจรับก็อด ผู้ที่เราตั้งใจจะให้ก็ชวดไปด้วย

๖. ควรรินน้ำตอนไหน? ควรเริ่มรินน้ำพร้อมกับตั้งใจอุทิศ ในขณะที่พระผู้นำเริ่มสวดว่า “ยะถาวาริวะหาปูรา…” และรินให้หมดเมื่อพระว่ามาถึง “…มะณิโชติระโส ยะถา…” พอพระทั้งหมดรับพร้อมกันว่า “สัพพีติโย วิวัชชันตุ…” เราก็พนมมือรับพรท่านไปจนจบ จึงจะถือว่าถูกต้อง

๗. อย่าทำน้ำสกปรกด้วยการเอานิ้วไปรอไว้ควรรินให้ไหลเป็นสายไม่ขาดระยะ และไม่ควรใช้วิธี เกาะตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นทางเหมือนเล่นงูกินหาง ถ้าเป็นในงานพิธีต่างๆ ให้เจ้าภาพหรือประธาน รินน้ำกรวดเพียงคนเดียวหรือคู่เดียวก็พอ คนนอกนั้นก็พนมมือตั้งใจอุทิศไปให้

๘. การทำบุญและอุทิศส่วนบุญควรสำรวมจิตใจ อย่าให้จิตฟุ้งซ่าน ปลูกศรัทธา ความเชื่อและความเลื่อมใสให้มั่นคงในจิตใจ ผลของบุญและการอุทิศส่วนบุญย่อมมีอานิสงค์มาก ผลบุญที่เราอุทิศไปให้ ถ้าไม่มีใครมารับก็ยังคงเป็นของเราอยู่ครบถ้วน ไม่มีผู้ใดจะมาโกงหรือแย่งชิงไปได้เลย

๙. บุญเป็นของกายสิทธิ์ ยิ่งให้ยิ่งมาก ยิ่งตระหนี่ยิ่งน้อย ยิ่งอุทิศให้คนอื่นหมดเลยเราก็ยิ่งจะได้บุญหมดเลย

๑๐. อีกประการหนึ่งเชื่อกันว่า น้ำที่กรวดนี้เมื่อนำไปเทลงบนแผ่นดินแล้วแม่พระธรณีจะรับด้วยมวยผมเก็บรักษาไว้ให้เพื่อเป็นพยานว่า ผู้นั้นได้ทำบุญกุศลไว้มากน้อยเท่าไหร่ เมื่อถึงคราวคับขันที่มีความจำเป็นจะต้องขอความช่วยเหลือให้ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย ก็จะได้อ้างเป็นพยาน ช่วยปราบปรามเหล่าปัจจามิตรให้พินาศพ่ายแพ้ไปได้ เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้เคยทรงอ้างมาแล้ว แม่พระธรณีก็ได้มารีดมวยผมให้น้ำท่วมเหล่ามารร้ายพ่ายแพ้ไป นี่ท่านกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นเป็นตัวบุคคลขึ้น แต่ถ้าจะกล่าวเป็นทางธรรมแม่พระธรณีนั้นก็คือ บารมีอันได้แก่คุณงามความดีต่างๆที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญสะสมมาในอเนกชาติ แม้ด้วยการกรวดน้ำเพียงนิดหน่อย แต่ละครั้งที่ทำบุญกุศล แต่อาศัยที่ทำบ่อยครั้งและมากครั้งก็มากมายเหลือเกินจนเทียบได้กับน้ำในมหาสมุทร


ขอบพระคุณแหล่งที่มา : dharma.thaiware
เผย 10 วิธีกรวดน้ำให้เกิดบุญกุศลสูงสุด และส่งบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวร เผย 10 วิธีกรวดน้ำให้เกิดบุญกุศลสูงสุด และส่งบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวร Reviewed by Dusita Srikhamwong on พฤษภาคม 19, 2562 Rating: 5


ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.