ประโยชน์ของสะระแหน่ กินใบสดช่วยย่อยอาหาร ขับลม ดมกลิ่นแก้ปวดหัว
สะระแหน่ เป็นพืชสมุนไพรที่มีแหล่งกำเนิดในแถบทวีปยุโรปตอนใต้และในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีชื่อสามัญ Kitchen Mint, Marsh Mint ชื่อวิทยาศาสตร์ Mentha × villosa Huds. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mentha × cordifolia Opiz ex Fresen.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หอมด่วน หอมเดือน (ภาคเหนือ), ขะแยะ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), สะระแหน่สวน (ภาคกลาง), มักเงาะ สะแน่ (ภาคใต้) เป็นต้น
สะระแหน่ มีลักษณะใบจะคล้ายคลึงกับพืชในตระกูลมิ้นต์มาก และยังมีรสชาติคล้ายคลึงกับ ตะไคร้หอม, มะนาวและแอลกอฮอล์ อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ หลายชนิด
ประโยชน์สะระแหน่และสรรพคุณทางยา
1. ขับลม
ตำรายาไทยใช้ใบสดกินเป็นยาขับลม เพราะใบสะระแหน่มีสารประกอบจำพวกเมนทอลอยู่มาก มีรสร้อนนิด ๆ กินเป็นยาขับลมได้ดี
2. ช่วยย่อยอาหาร
ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland Medical Center) ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า สะระแหน่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร และมีส่วนกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำดีในร่างกาย ช่วยย่อยอาหารได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมัน ทั้งนี้สูตรช่วยย่อยอาหาร สามารถนำใบสะระแหน่สดมาต้มกับน้ำสะอาดแล้วดื่มแก้อาหารไม่ย่อยได้
3. บรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน
มีงานวิจัยเปิดเผยว่า อาสาสมัคร 57 คนที่มีอาการลำไส้แปรปรวน เมื่อกินน้ำมันสะระแหน่ชนิดแคปซูลนาน 4 สัปดาห์ มีอาการลำไส้แปรปรวนลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้กินน้ำมันสะระแหน่
นอกจากนี้การศึกษาในไต้หวันยังพบว่า อาสาสมัครที่กินน้ำมันสะระแหน่ชนิดแคปซูลก่อนอาหาร 15-30 นาที มีอาการท้องอืดและมีกรดแก๊สในกระเพาะอาหารลดลง และยังพบว่าผู้ป่วยมากกว่า 80% มีอาการปวดในช่องท้องลดลงด้วย
4. แก้ปวดหัว
กลิ่นน้ำมันหอมระเหยในใบสะระแหน่มีส่วนช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและมีสรรพคุณระงับปวดได้ โดยใช้สะระแหน่ทั้งต้นประมาณ 500 กรัม โขลกจนละเอียด แล้วนำไปต้มกับน้ำเพื่อแยกเอาส่วนน้ำมันออก เพื่อที่เราจะใช้น้ำมันสะระแหน่ที่ได้มานวดคลึงขมับเมื่อรู้สึกปวดเวียนศีรษะ
5. แก้คลื่นไส้
กลิ่นหอมจากสารเมนทอลในใบสะระแหน่ทำให้รู้สึกสดชื่น บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ และอาการคลื่นไส้ได้ โดยใช้ใบสด 1 กำมือ โขลกจนละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำมาผสมกับน้ำอุ่น 1 แก้วกาแฟ จิบอุ่น ๆ แก้อาการคลื่นไส้ วิงเวียน
6. ฆ่าเชื้อในช่องปาก แก้ปวดฟัน
อย่างที่บอกว่าสรรพคุณของสะระแหน่ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ดังนั้นอาการปวดฟันก็ไม่เหนือบ่ากว่าแรงสะระแหน่เท่าไรค่ะ โดยใช้ใบสะระแหน่ประมาณ 1 กำมือ โขลกพอแหลก แล้วนำไปต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วยกาแฟ จากนั้นเคี่ยวต่อจนเหลือน้ำแค่ครึ่งเดียว ทิ้งไว้ให้อุ่น แล้วนำมากลั้วปากและลำคอเพื่อฆ่าเชื้อในช่องปาก บรรเทาอาการปวดฟัน เจ็บคอ และเจ็บโคนลิ้น
7. บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก
หลายคนชอบกลิ่นสะระแหน่เพราะมีกลิ่นหอม ซึ่งน้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ในสะระแหน่นี่แหละค่ะที่ช่วยลดอาการอักเสบในเยื่อบุจมูก บรรเทาอาการหลอดลมหดตัว ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกจากหวัด และอาการหอบหืดได้ โดยดมน้ำมันหอมระเหยจากสะระแหน่ หรือทำชาสาระแหน่จิบอุ่น ๆ ก็ได้
8. แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
สะระแหน่เป็นสมุนไพรมีรสร้อน แต่มีฤทธิ์เย็น และมีสรรพคุณแก้ปวด จึงสามารถบรรเทาอาการปวดแสบจากพิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้ โดยให้ใช้ใบสะระแหน่สดใหม่ 5-10 ใบ โขลกจนละเอียดแล้วนำมาพอกบริเวณที่แมลงกัด
9. แก้คัน ความเย็นจากใบสะระแหน่ก็ช่วยบรรเทาอาการคันบนผิวหนัง อีกทั้งสะระแหน่ยังมีฤทธิ์แก้อักเสบ จึงช่วยลดอาการคัน ฟกช้ำ หรืออาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง โดยตำใบสะระแหน่ให้ละเอียดแล้วนำมาพอกผิวแก้คัน
ข้อควรระวังในการใช้สะระแหน่
* ห้ามใช้น้ำมันสะระแหน่กับทารกหรือเด็กเล็ก เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคยเคืองในระบบทางเดินหายใจ และอาจทำให้ปอดอักเสบได้
* ข้อมูลจากวารสาร Toxicology and Industrial Health เผยว่า ชาสะระแหน่มีฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กในหนูทดลอง และแม้จะยังไม่มีผลทดลองในคน ทว่าผู้ที่มีภาวะโลหิตจางก็ควรหลีกเลี่ยงสะระแหน่ไว้ก่อน
* ผู้เป็นโรคกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงสะระแหน่ เนื่องจากสะระแหน่มีผลคลายกล้ามเนื้อหูรูดในหลอดอาหาร อาจส่งผลให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบขึ้นมาได้
ประโยชน์สะระแหน่เยอะเบอร์นี้หลายคนเริ่มอยากกินสะระแหน่ให้มากขึ้น ซึ่งปกติ นิยมนำสะระแหน่มาใช้แต่งกลิ่นอาหาร ใส่ในอาหารประเภทน้ำพริก-ยำต่าง ๆ หรือรับประทานเป็นผักสด และยังสามารถดื่มเป็นชาได้ด้วย ซึ่งเรามีวิธีชงชาสะระแหน่มาฝาก ทำไม่ยากด้วยนะ
- ชาสะระแหน่ เครื่องดื่มสมุนไพร มหัศจรรย์ สารพัดประโยชน์
อ้างอิงข้อมูล https://health.kapook.com/view207325.html และ , สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
Photo : https://item.taobao.com/item.htm?id=533101212982
ประโยชน์ของสะระแหน่ กินใบสดช่วยย่อยอาหาร ขับลม ดมกลิ่นแก้ปวดหัว
Reviewed by Dusita Srikhamwong
on
กรกฎาคม 05, 2562
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: