ข่อย มีประโยชน์มากกว่าไม้ประดับบ้าน ผลสุกกินเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
ต้นข่อย (Streblus asper,Siamese rough bush, Tooth brush tree) ไม้ยืนต้นที่มีสรรพคุณทางสมุนไพรหลายอย่าง มีถิ่นกำเนิดแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Streblus asper Lour. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตองขะแหน่ (กาญจนบุรี), ส้มพอ (เลย ร้อยเอ็ด), ซะโยเส่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), กักไม้ฝอย (ภาคเหนือ), สะนาย (เขมร), สมนาย เป็นต้น
ใบข่อย เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านค่อนข้างคดงอ มีปุ่มปมอยู่รอบๆต้นหรือเป็นพูเป็นร่องทั่วไป
ซึ่งอาจจะขึ้นเป็นต้นเดียวหรือเป็นกลุ่ม เปลือกต้นมีสีเทาอ่อน บาง ขรุขระเล็กน้อย แตกเป็นแผ่นบาง ๆ และมียางสีขาวข้นเหนียวซึมออกมา แตกกิ่งก้านมีสาขามาก แตกกิ่งต่ำเป็นพุ่มทึบ และนิยมขยายพันธุ์ด้วยการใช้รากปักชำ เพราะจะเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการใช้กิ่งปักชำหรือการเพาะเมล็ด
ใบข่อย ลักษณะเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดเล็ก แผ่นใบมีสีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนากรอบ ผิวใบสากคล้ายกระดาษทรายทั้งสองด้าน ลักษณะใบคล้ายรูปรีแกมรูปไข่หัวกลับ โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีความกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร
ดอกข่อย ออกดอกเป็นช่อ มีสีขาวเหลืองอ่อน โดยจะออกปลายกิ่งตามซอกใบ ดอกเดี่ยวแต่รวมกันเป็นกระจุก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ต่างดอกกัน
ผลข่อย ผลสดมีลักษณะกลมสีเขียว ผลคล้ายรูปไข่ มีขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมล็ดมีขนาดโตเท่ากับเมล็ดพริกไทย มีเนื้อเยื่อหุ้ม ส่วนผลแก่จะมีสีเหลืองใสและมีรสหวาน และเป็นที่ชื่นชอบของพวกนกเป็นอย่างมาก
สรรพคุณของข่อย
สรรพคุณข่อยที่พบการใช้ในประเทศต่างๆ ได้แก่ ในอินเดีย ใช้กิ่งข่อยทุบให้นิ่มใช้เป็นไม้สีฟันทำให้ฟันแน่น ในประเทศอื่นๆใช้น้ำต้มจากเปลือกข่อยผสมเกลือเป็นยาอมแก้รำมะนาด ในประเทศไทย พบว่า มีการใช้กิ่งข่อยสีขัดฟัน และใช้น้ำยางจากต้นข่อยผสมเกลือใส่ฟันหรือบริเวณที่ปวดฟัน บริเวณเหงือกบวมสามารถลดอาการบวม และอาการปวดได้
• เปลือกและเนื้อไม้ ใช้ต้มรับประทานรักษาโรคบิด แก้ท้องร่วง รักษาไซนัส แก้พิษงู โดยเฉพาะยางจากเปลือกข่อยมีฤทธิ์ต้าน และฆ่าเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส รักษาแผล รักษาฝี รักษาโรคผิวหนัง รักษาริดสีดวงจมูก รักษาไซนัส และใช้เป็นยาระงับประสาท
นอกจากนั้น ยังใช้เนื้อไม้ทำเป็นยาสีฟัน ไม้ขัดฟันป้องกันโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียในช่องปาก โดยเฉพาะใช้รักษาโรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำมาต้มน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง หรือบดใช้ประคบรักษาแผลสด แผลติดเชื้อ
• ใบและดอก นำมาตากแห้ง ชงเป็นชาดื่มแก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย ท้องผูก ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ และบำรุงหัวใจ
• ผลสด ใช้รับประทานสดเป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยเจริญอาหาร
• เมล็ดบด ต้มรับประทานใช้แก้อาการท้องร่วง ริดสีดวง แก้เลือดกำเดา แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ช่วยเจริญอาหาร
• ราก ใช้ต้มดื่มแก้โรคบ้าหมู หรือนำมาบดผสมน้ำประคบรักษาบาดแผล แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง
ทั้งนี้ การนำส่วนต่างๆของข่อยมาปรุงเป็นยารับประทาน ควรระวังไม่รับประทานมาก และต่อเนื่องกัน เนื่องจากข่อยมีสารพิษที่มีผลข้างเคียงกับการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ ระบบหัวใจ และความดันเลือด
โดยเฉพาะในส่วนของยางจากเปลือก และลำต้น แต่การนำส่วนต่างๆจากข่อยเป็นยาใช้ภายนอกจะมีประสิทธิภาพดี และไม่พบผลข้างเคียง
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , หมอชาวบ้าน
และ https://puechkaset.com/
ข่อย มีประโยชน์มากกว่าไม้ประดับบ้าน ผลสุกกินเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
Reviewed by Dusita Srikhamwong
on
ตุลาคม 19, 2562
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: