ประโยชน์ของเผือก กินบำรุงร่างกาย บำรุงไต เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
เผือก เป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี หัวและเหง้าอยู่ใต้ดิน มีถิ่นกำเนิดในประประเทศแถบร้อนชื้นทั้งในแอฟริกา อเมริกาใต้ อเมริกากลาง และในเอเชีย รวมถึงหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
เผือก มีชื่อสามัญ Taro ภาษาจีนเรียกว่า โอ่วไน, โอ่วถึง, โทวจือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Colocasia esculenta (L.) Schott จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE) สำหรับการรับประทานเผือกนั้นนิยมนำเอาส่วนหัวของเผือกที่อยู่ใต้ดินมารับประทาน ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น อาหารคาว และขนมของหวานต่างๆ
ฤดูกาลของเผือก : เผือกให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี
พันธุ์เผือกทั่วโลกมีความหลากหลายมาก เฉพาะที่พบในไทยแบ่งได้ 4 พันธุ์คือ
เผือกหอม เป็นชนิดหัวใหญ่ มีหัวเล็กติดอยู่กับหัวใหญ่เล็กน้อย ต้มรับประทานมีกลิ่นหอม กาบใบใหญ่สีเขียว
เผือกเหลือง หัวขนาดย่อม หัวสีเหลือง
เผือกไม้หรือเผือกไหหลำ หัวมีขนาดเล็ก
เผือกตาแดง ตาของหัวมีสีแดงเข้ม มีหัวเล็ก ๆ ติดอยู่รอบหัวใหญ่ เป็นกลุ่มจำนวนมาก กาบใบและเส้นใบสีแดง
ประโยชน์ของเผือก
1. หัวเผือกนำมาปรุงสุกสำหรับรับประทานเป็นอาหารโดยตรง อาทิ เผือกต้ม เผือกปิ้ง หรือเผือกทอด เป็นต้น และหลายประเทศในแอฟริกา นิยมนำหัวเผือกมาต้มจนสุก แล้วบดให้ละเอียดก่อนรับประทานเป็นอาหาร เรียกว่า fufu
2. หัวเผือกใช้ประกอบอาหารคาว อาทิ แกงมัสมั่น แกงจืด เป็นต้น
3. หัวเผือกนำมาหั่นเป็นชิ้น แล้วตากแห้ง ก่อนนำมาบดเป็นแป้งเผือกสำหรับทำขนมหวาน
4. หัวเผือกนำมาต้มสุก ก่อนบดให้ละเอียดหรือหั่นเป็นชิ้นสำหรับใช้เป็นไส้หรือผสมทำขนมหวาน อาทิ ลอดช่องใส่เผือก ไอศกรีมเผือก สาราเปาไส้เผือก ขนมหม้อแกง เป็นต้น
5. ปอย (poi) เป็นผลิตภัณฑ์จากเผือกที่นิยมรับประทานมากในฮาวาย ด้วยการนำเผือกมาต้มให้สุก แล้วปอกเปลือกออก ก่อนนำมาบดเนื้อเผือกผสมกับน้ำให้ละเอียด หลังจากนั้น นำมากรองผ่านตะแกรง จนได้เฉพาะเนื้อเผือกเหลว แล้วนำบรรจุลงใส่ถุงพลาสติกหรือกล่องพลาสติก ก่อนนำมาพักไว้ในห้อง 3-5 วัน ซึ่งจะได้เนื้อเผือกเหลวที่มีความเปรี้ยวอมหวาน เพราะช่วงที่อยู่ในถุงพลาสติกจะเกิดการหมักของจุลินทรีย์แลกโตบาซิลลัสจนเกิดกรดเปรี้ยวขึ้น
6. ใบอ่อนหรือยอดอ่อนนำมารับประทานสดหรือลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือรับประทานเป็นเครื่องเคียงกับอาหารอื่นๆ
7. ก้านใบเผือกนำมาลอกเอาเฉพาะเนื้อก้านสำหรับรับประทานคู่อาหารอื่นๆ อาทิ น้ำพริก ส้มตำ เป็นต้น
8. ก้านใบของเผือกนำมาลอกเปลือกหุ้มออกให้เหลือแต่เนื้อด้านใน ก่อนใช้ทำอาหาร อาทิ แกงอ่อม แกงเลียง ผัดใส่หมูหรือเนื้อ เป็นต้น
9. ทุกส่วนของเผือกนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์
10. ใบเผือกมีขนาดใหญ่ มีลักษณะงุ้มเข้าเป็นแอ่ง จึงใช้สำหรับตักน้ำหรือรองน้ำได้ รวมถึงนำใบมาใช้ห่อของ ห่อข้าว หรือใช้ห่อทำอาหารจำพวกห่อหมกต่างๆ นอกจากนั้น ยังใช้รองสำรับอาหาร หรือ รองนั่ง เป็นต้น
11. ต้นเผือกใช้ปลูกเป็นพืชบำบัดน้ำเสีย อาทิ ปลูกในระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ ปลูกในระบบบำบัดน้ำเสียบ่อสุดท้ายของระบบอื่นๆ
สรรพคุณของเผือก
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– ใช้เป็นยาลดไข้
– ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
– ช่วยในการขับถ่าย
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยบำรุงไต
ใบ และก้านเผือก (นำมาบดใช้ภายนอก)
– ใบนำมาขยำ ก่อนใช้ทาบาดแผล แก้พิษจากแมลงกัดต่อย ลดอาการปวด ลดอาการบวม
– ใบนำมาต้มน้ำอาบ ใช้รักษาโรคผิวหนัง
ใบ และก้านเผือก (สำหรับรับประทาน)
– แก้อาการอักเสบ
– แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
ข้อควรระวังในการรับประทานเผือก
หัวและทั้งต้นมีผลึกแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้คัน จึงไม่ควรรับประทานแบบดิบ ๆ ต้องนำมาผ่านการต้ม หรือ หมักก่อนถึงจะรับประทานได้ สำหรับบางรายก็อาจมีอาการแพ้เผือกได้ แม้จะทำให้สุกแล้วก็ตาม โดยอาการที่พบ คือ คันในช่องปาก ทำให้ลิ้นชา เป็นต้น และการรับประทานเผือกในปริมาณมากเกินไปจะทำให้ม้ามทำงานได้อย่างไม่เป็นปกติ
อ้างอิงข้อมูล...https://th.wikipedia.org/
และ https://puechkaset.com/
ประโยชน์ของเผือก กินบำรุงร่างกาย บำรุงไต เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
Reviewed by Dusita Srikhamwong
on
กรกฎาคม 04, 2562
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: