ข้อคิดเตือนใจ การให้อภัย กับ การให้โอกาส เป็นคนละส่วนกัน




ข้อคิดเตือนใจ การให้อภัย กับ การให้โอกาส เป็นคนละส่วนกัน


“การให้อภัย” กับ “การให้โอกาส” เป็นคนละส่วนกัน

การให้อภัย คือ การยกโทษทางจิตใจในสิ่งผิดที่เขาทำต่อเรา

การให้อภัยมีสองระดับครับ

ระดับแรก

ให้อภัยเมื่อรู้สึกว่าเขารับผิดและแก้ไขอย่างดีแล้ว เมื่อคนคนหนึ่งทำไม่ดีกับเรา และเขาได้รับโทษของความผิดนั้น และเขาพยายามชดใช้ต่อสิ่งนั้น

“เขาขอโทษ”

“เขาแก้ไข”

“เขาชดใช้”

“เขาเสียใจ”

ทำให้ความรู้สึกของความโกรธแค้นของเราบรรเทา เรารู้สึกว่าเราให้อภัยเขาได้ เราจึงให้อภัย

ระดับที่สอง

ให้อภัยโดยไม่ขึ้นกับว่าคนที่ทำผิดนั้นจะเป็นอย่างไร จะเสียใจ จะชดใช้ จะรับโทษหรือเปล่า แต่เราก็ให้อภัยเขาได้ ทั้งสองอย่างนี้ล้วนต้องใช้เวลาและการตัดสินใจด้วยกันทั้งนั้น แต่อย่างที่สองยากกว่า บางครั้งเราไม่ให้อภัยบางคนเพราะคิดว่าเราทำไม่ได้ มันยากเกินไป มันหนักหนาเกินไปหรือไม่เราก็รู้สึกว่า เราไม่อยากให้อภัย เราจะเก็บความโกรธแค้นนี้ไว้เพราะเขาไม่สมควรได้รับการให้อภัย แต่ในขณะเดียวกันนั้นเรากลับไม่รู้ตัวว่าจิตใจที่โกรธแค้นนั้นมาพร้อมกับการกัดกินหัวใจและมันทำร้ายเราเสมอ ไม่เคยทำร้ายคนที่ทำผิดกับเราเลยมันคือยาพิษที่เราดื่มเข้าไปทุกวัน และตั้งจิตปณิธานว่าทุกครั้งที่เราดื่มยาพิษนั้น จะทำให้คนที่เราโกรธแค้นนั้นตาย..ซึ่งมันไม่ใช่

การให้อภัย ไม่ได้ทำให้เขาพ้นผิดครับ

แต่ทำให้เราพ้นจากจิตใจที่เคียดแค้นและเจ็บปวดต่างหาก

มันแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่มันปลดปล่อยเราจากที่คุมขังจองจำ

ไปสู่อนาคตที่สดใสกว่า คนที่ทำได้คือคนที่ชนะไม่ใช่พ่ายแพ้

จริงๆ แล้วการให้อภัยกับการให้โอกาส เป็นคนละส่วนกันครับ

เราให้อภัยแต่ไม่ให้โอกาสได้

เพราะการให้อภัยคือการยกโทษทางจิตใจ ที่ปลดปล่อยตัวเราจากการถูกทำร้ายทางใจ แต่การให้โอกาสต้องมาพร้อม

กับการพิสูจน์ตัวเองของคนทำผิด ถ้าคนทำผิดไม่ได้กลับใจ ไม่ได้เสียใจ เราไม่จำเป็นต้องให้โอกาสเสมอไป และบางครั้งเขายังต้องรับโทษจากความผิดนั้น

แต่ส่วนของเรานั้นแค่เดินออกมา แล้วยกโทษให้เขา

ออกจากที่คุมขังแห่งความแค้นใจ

เอาชีวิตของเรากลับคืนมาใหม่เป็นของเรา

และเอาไปใช้ให้มีความสุขกับการเริ่มต้นใหม่ดีกว่า

“การให้อภัย…ทำให้เราได้ชีวิตของเรากลับมา”

ฝึก 8 อย่าง จะได้ไม่ทุกข์ พร้อมแนะนำวิธีนั่งสมาธิรับมือกับความทุกข์

วิธีการฝึกจิตใจของตัวเองไม่ให้ฟุ้งซ่าน ให้มีสมาธิและสติอยู่ตลอดเวลา โดยกูรูได้ชี้แนะให้ประชาชนได้ลองฝึกควบคุมจิตใจของตัวเอง และเมื่อทำได้ก็จะเป็นผลดีต่อตัวเองจิตใจเราจะได้สงบและไม่เป็นทุกข์ มาดูกันเลยครับ

1. ฝึกมองตัวเองให้เล็กเข้าไว้ หมายความว่า จงเป็นคนตัวเล็ก อย่าเป็นคนตัวใหญ่ จงเป็นคนธรรมดา อย่าเป็นคนสำคัญ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา อย่าไปให้ความสำคัญกับตัวเองมากไป

2. ฝึกให้ตัวเองเป็นนักไม่สะสม หมายความว่า การสะสมอะไรสักอย่างนั้นเป็นภาระ ไม่มีอะไรที่เราสะสมแล้วไม่เป็นภาระยกเว้นความดี นอกนั้นล้วนเป็นภาระทั้งหมดไม่มากก็น้อย

3. ฝึกให้ตนเองเป็นคนสบายๆ หมายความว่า อย่าไปบ้ากับความสมบูรณ์แบบ เพราะความสมบูรณ์แบบมันไม่มีจริง มีแต่คนโง่เท่านั้นที่มองว่า ความสมบูรณ์แบบมีจริง

4. ฝึกให้ตัวเองเป็นคนนิ่งๆ หรือไม่ก็พูดในสิ่งที่ดีๆ หมายความว่า ถ้าอะไรไม่ดีก็อย่าไปพูดมากไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด แต่ถ้ามันไม่ดี เป็นไปได้ก็ไม่ต้องพูด เพราะการพูด หรือวิจารณ์ในทางเสียหายนั้น มีแต่ทำให้จิตใจตนเองตกต่ำ และขุ่นมัว

5. ฝึกให้ตัวเองรู้ธรรมชาติว่า อะไรๆ ก็ผ่านไปเสมอ หมายความว่า เวลามีความสุข ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความสุขมันก็ผ่านไป เวลามีความทุกข์ ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความทุกข์ก็ผ่านไป เวลามีสถานการณ์แย่ๆ เกิดขึ้น ก็ให้รู้ทันว่า เรื่องราวเหล่านี้ มันไม่ได้อยู่กับเราจนวันตาย

6. ฝึกให้ตัวเองเข้าใจเรื่อง ของการนินทา หมายความว่า เราเกิดมาก็ต้องรู้ตัวว่า เราต้องถูกนินทาแน่นอน ดังนั้น เมื่อถูกนินทาขอให้รู้ว่า “เรามาถูกทางแล้ว” แปลว่า เรายังมีตัวตนอยู่บนโลก คนที่ชอบเต้นแร้งเต้นกา กับคำนินทาก็คือคนไม่รู้เท่าทันโลก แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ยังนินทาลูก คนเป็นลูกก็ยังนินทาพ่อแม่ นับประสาอะไรกับคนอื่น ถ้าเราห้ามตัวเองไม่ให้นินทาคนอื่นได้เมื่อไหร่ ค่อยมาคิดว่า เราจะไม่ถูกนินทา

7. ฝึกให้ตัวเองพ้นไปจาก ความเป็นขี้ข้าของเงิน หมายความว่า เราต้องหัดพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ รถยนต์ใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน นาฬิกาใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน เสื้อผ้าใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน การที่คนเราจะเลิกเป็นขี้ข้าเงินได้ ต้องเริ่มจากการรู้จักเพียงพอก่อน เมื่อรู้จักพอแล้ว ก็ไม่ต้องหาเงินมาก เมื่อไม่ต้องหาเงินมาก ชีวิตก็มีโอกาสทำอะไรที่มากกว่าการหาเงิน

8. ฝึกให้ตัวเองเสียสละ และยอมเสียเปรียบ หมายความว่า การที่คนๆ หนึ่งยอมเสียเปรียบผู้อื่นบ้าง เป็นเรื่องจำเป็น ใครก็ตามที่บ้าความถูกต้อง บ้าเหตุบ้าผล ไม่ยอมเสียเปรียบอะไรเลย ไม่ช้า คนๆ นั้นก็จะเป็นบ้าสติแตก กลายเป็นคนที่ถูกทุกอย่างแต่ไม่มีความสุข เพราะต้องสู้รบกับคนรอบข้างเต็มไปหมดเพื่อความถูกต้องที่ตนเองยึดมั่นถือมั่น

“รับมือกับความทุกข์” ด้วยการฝึก “นั่งสมาธิ”
ด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือหนีจากเรื่องตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการงาน สภาพแวดล้อมรอบตัว

ปัญหารถติดที่คนกรุงต้องพบเจอทุกเช้าเย็น หนี้สินนอกระบบ ข้าวของแพง และอีกร้อยแปดพันอย่างที่นับว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลให้เกิดความเครียด หรือเรื่องแย่ๆ แง่ลบที่อยู่ภายในจิตใจ

ทางออกหรือวิธีบำบัดคงหายากเต็มที แต่ถ้าคุณลองมองดูดีๆนึกอีกทีก็จะค้นพบวิธีการช่วยบรรเทาสภาวะเหล่านั้นได้ด้วยตัวคุณเอง ดังคำสุภาษิตไทยที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

วิธีที่ว่านี้ไม่ได้ยากหรือต้องใช้เงินลงทุนใดๆ เพียงแค่เริ่มจากจิตใจของคุณเอง นั่นคือ การฝึกจิตสร้างสมาธิ ที่จะนำไปสู่ความสงบ เมื่อเกิดความสงบในจิตใจ แน่นอนว่าสิ่งดีๆในชีวิตก็ตามมา

….แต่ก่อนที่เราจะไปรู้ถึงขั้นตอนวิธีการฝึกสมาธินั้น มาทำความเข้าใจกันคำว่าสมาธิกันก่อนดีกว่าค่ะ

สมาธิ ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็ คือ ความสงบ สบาย มีสติ และความรู้สึกเป็นสุข มีความสุขกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ หรือสิ่งที่เราสร้างขึ้นแล้วมีความสุขกับตรงนั้น

แต่ถ้าหากใครที่ยังไม่รู้สึกแบบนี้ตกอยู่ในสภาวะจิตใจที่ว้าวุ่น เคร่งเครียด กังวล ควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานค่ะ มาเริ่มฝึกสมาธิเพื่อทำให้จิตใจสงบกันดีกว่า เริ่มต้นง่ายๆ จากสิ่งใกล้ตัว คือ “การนั่งสมาธิ”

หลักการเริ่มต้นทำสมาธิง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยในระยะแรกฝึกนั่งเพียง 10 – 15 นาที ก็เพียงพอ

ปล่อยวาง ความคิดนึก

เรื่องราวต่างๆ ให้หมดไปจากใจ ทำสติจับความรู้สึก อยู่ที่ร่างกายให้รู้สึกว่าตอนนี้ตัวเราว่าขณะนี้นั่งอยู่อย่างไร นึกรู้ นึกเห็นตัวเราอยู่ตลอดเวลาเช่น ถ้าเรานั่งขาขวาทับซ้าย ก็รู้ว่าเรานั่งขาขวาทับซ้าย , เรานั่งหลับตา ก็รู้ว่าเรานั่งหลับตา

น้อมนึกเห็นใบหน้าของเรา

ว่ามีลักษณะอย่างไร นึกเห็นตั้งแต่ศีรษะ ตลอดลงมาปลายเท้า นึกเห็นรอบ ตัวเอง แล้วมาพิจารณาอยู่ที่ใบหน้า นึกถึงภาพให้เห็นคิ้ว เห็นตา เห็นหูทั้งสองข้าง นึกเห็นปาก เห็นคาง เห็นปลายจมูก เห็นรู้ ลมหายใจเข้า-ออก กำหนดความรู้สึกอยู่ที่สองช่องจมูก หายใจเข้านึกว่า “พุท” หายใจ ออกนึกว่า “โธ” จนรู้อยู่แต่ “พุท-โธ” ทุกลมหายใจเข้า-ออก และร่างกายก็จะเข้าสู่คำว่า “กายสงบ ใจสงบ” ในช่วงนี้หากคำภาวนา “พุท-โธ” ได้ละไปแล้วก็ให้พิจารณาลมหายใจ เข้า-ออกเพียงอย่างเดียว (คำ “พุท-โธ” จะหยุดรำลึกไปเอง โดยธรรมชาติอย่าหวนคำรำลึก หรือทวนความรู้สึกใดๆ ขึ้นอีก)

เมื่อกระแสกลมกลืนกันดีแล้ว

จิตจะนิ่งเป็นอิสระ เป็นสุข และเกิดปัญญา รู้เอง เห็นเอง สัมผัสได้ ด้วยจิตเอง

แต่ด้วยความอดทนของคนเราอาจจะมีระยะจำกัดในระยะแรกเพียงแค่ 10 นาที ก็เพียงพอ อย่าฝีนตัวเองมากไปเพราะอาจจะกลายเป็นนอกจากจะไม่ได้สมาธิแล้วยังจะทำให้รู้สึกน่าเบื่อหรือไม่อยากกลับมานั่งสมาธิอีกเลยก็เป็นได้…

วิธีการออกจากสมาธิ

ก่อนจะเลิกนั่งสมาธิ ให้มาพิจารณากายใจของเรา ตั้งแต่เบื้องบนคือปลายผม สุดเบื้องล่างคือ ปลายเท้า จากเบื้อง ล่างคือปลายเทำให้ถึงเบื้องบนคือปลายผม พิจารณารู้รอบตัวเอง ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ด้วยการออก จากสมาธิ ให้จิตของเราพิจารณารูปตัวเองทั้งกายภายนอกภายใน

รู้ทั่วพร้อมแล้วค่อยๆ เคลื่อนมือขวามาวางที่หัวเข่าด้านขวา เคลื่อนมือซ้ายมาวางที่หัวเข่าด้านซ้าย แล้วค่อยๆ ยกมือขวาขึ้นมาระหว่างอก จากนั้นยกมือซ้ายขึ้นมาพนมมือแบบบัวตูม

ประโยชน์ของการนั่งสมาธิ ที่ส่งผลต่อตนเอง มีมากมายหลายประการ

1 ด้านสุขภาพจิต
– ส่งเสริมให้คุณภาพของใจดีขึ้น คือ ทำจิตใจ ผ่องใส สะอาด บริสุทธิ์ สงบ เยือกเย็น ปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย มีความจำ และสติ ปัญญาดีขึ้น

– ส่งเสริมสมรรถภาพทางใจ ทำอะไรคิดอะไรได้รวดเร็ว ถูกต้อง เลือกคิดแต่ในสิ่งที่ดีเท่านั้น

2 ด้านพัฒนาบุคลิกภาพ
– จะเป็นผู้มีบุคลิกภาพดี กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า มีความองอาจสง่าผ่าเผย มีผิวพรรณผ่องใส

– มีความมั่นคงทางอารมณ์ หนักแน่น เยือกเย็นและเชื่อมั่นในตนเอง

– มีมนุษยสัมพันธ์ดี วางตัวได้เหมาะสมกับเทศกาลเทศะเป็นผู้มีเสน่ห์ เพราะไม่มักโกรธ มีความเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไป

3 ด้านชีวิตประจำวัน
– ช่วยให้คลายเครียด เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงานและการศึกษาเล่าเรียน

– ช่วยเสริมให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะร่างกายกับจิตใจย่อมมีอิทธิพลต่อกัน ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ย่อมเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว

4 ด้านศีลธรรมจรรยา
– ย่อมเป็นผู้มีสัมมาทิฐิ เชื่อกฎแห่งกรรม สามารถคุ้มครองตนให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายได้ เป็นผู้มีความประพฤติดี เนื่องจากจิตใจดี ทำให้ความประพฤติทางกายและวาจาดีตามไปด้วย

– ย่อมเป็นผู้มีความมักน้อย สันโดษ รักสงบและมีขันติเป็นเลิศ

– ย่อมเป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ย่อมเป็นผู้มีสัมมาคารวะและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน


ขอบพระคุณแหล่งที่มา : khaonaroo
ข้อคิดเตือนใจ การให้อภัย กับ การให้โอกาส เป็นคนละส่วนกัน ข้อคิดเตือนใจ การให้อภัย กับ การให้โอกาส เป็นคนละส่วนกัน Reviewed by Dusita Srikhamwong on กรกฎาคม 04, 2562 Rating: 5


ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.