ประโยชน์ของกระดังงา กระดังงาไทย เกสรช่วยแก้ร้อนใน ดอกทอดน้ำมันมะพร้าวทำเป็นน้ำมันใส่ผมได้หอมดี




ประโยชน์ของกระดังงา กระดังงาไทย เกสรช่วยแก้ร้อนใน ดอกทอดน้ำมันมะพร้าวทำเป็นน้ำมันใส่ผมได้หอมดี

กระดังงา กระดังงาไทย (Cananga, Ylang-Ylang, Ilang-Ilang) พรรณไม้ที่มีดอกกลิ่นหอมอ่อน ๆ ตอนเช้าและเย็น มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เอเซียเขตร้อนในแถบของประเทศฟิลิปปินส์และประเทศอินโดนีเซีย นิยมปลูกประดับไว้ในบริเวณบ้านจะช่วยทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง เนื่องจาก "กระดัง" คือการทำให้เกิดเสียงดังไปไกล นอกจากนี้ยังเชื่อด้วยว่า เสียงดังเหมือนกับนกการเวกในสมัยพุทธกาลที่มีเสียงดังไพเราะและก้องไกลทั่วสวรรค์

กระดังงาไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Uvaria odorata Lam.) จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดังงา (ยะลา, ตรัง), กระดังงาใบใหญ่ กระดังงาใหญ่ (ภาคกลาง), สะบันงา สะบันงาต้น (ภาคเหนือ) เป็นต้น

ดอกกระดังงาไทย ออกเป็นช่อขนาดใหญ่บนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกแยกแขนง ในช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 3-6 ดอก ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีขน ก้านดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือสีเขียว มีกลิ่นหอมมาก กลีบยาวอ่อนมี 6 กลีบ กลีบดอกห้อยลง กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ชั้นและ 3 ชั้น



โดยกลีบดอกชั้นนอกมีลักษณะแคบ ยาว ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย (เป็นคลื่นน้อยกว่ากระดังงาสงขลา) กลีบดอกมีขนาดยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในมีลักษณะสั้นและแคบกว่าเล็กน้อย โคนกลีบดอกจะซ้อนทแยงอยู่ใต้รังไข่ กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร มีขนขึ้นปกคลุม ปลายกลีบเลี้ยงกระดกขึ้น รังไข่มีจำนวนมาก เกสรเพศผู้มีจำนวนมากเบียดกันเป็นตุ้มแป้นทรงกลมตรงกึ่งกลางดอก

สรรพคุณของกระดังงา

เปลือกต้นกระดังงา มีรสฝาดเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้อาการท้องเสีย ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน

เนื้อไม้กระดังงา มีรสขมเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ

รากกระดังงา มีสรรพคุณเป็นยาคุมกำเนิด

ใบกระดังงา ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้อาการคัน และใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

ดอกกระดังงา มีรสหอมสุขุม มีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน ใช้ปรุงเป็นยาหอม ใช้เป็นยาชูกำลัง ทำให้หัวใจชุ่มชื่น บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้อาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำ จัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเกสรทั้ง 7” (สัตตะเกสร) และ “พิกัดเกสรทั้ง 9” (เนาวเกสร) ช่วยแก้อาการไข้เนื่องจากโลหิตเป็นพิษ และมีปรากฏในตำรายาแผนโบราณชื่อคัมภีร์มหาโชติรัตน์ ยาชื่อมาลาสันนิบาต ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมจุกคอ แก้อาการแน่นหน้าอก แก้จุกเสียดและแก้สะอึก

เกสรกระดังงา มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร และใช้แก้โรคตา

น้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณเป็นยาขับลม ฆ่าเชื้อโรค ช่วยบำรุงประสาท สงบประสาท แก้อาการซึมเศร้า กระวนกระวายใจ แก้หอบหืด ช่วยลดความดันโลหิต



ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระดังงา

กระดังงาไทย มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฆ่าเซลล์มะเร็ง ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ยีสต์ ไล่แมลง เป็นเครื่องหอม แก้อาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ความดันโลหิตสูง มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร ใช้สงบประสาท ลดไข้

ประโยชน์ของกระดังงา

คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นกระดังงาไว้ประจำบ้านจะช่วยทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง เนื่องจาก "กระดัง" คือการทำให้เกิดเสียงดังไปไกล นอกจากนี้ยังเชื่อด้วยว่า เสียงดังเหมือนกับนกการเวกในสมัยพุทธกาลที่มีเสียงดังไพเราะและก้องไกลทั่วสวรรค์ ดังนั้นบางคนจึงเรียกกระดังงาว่า การเวก

คนไทยโบราณจะใช้ดอกกระดังงานำมาทอดกับน้ำมันมะพร้าวทำเป็นน้ำมันใส่ผม

ดอกแก่จัดสด ๆ สามารถนำมารมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียน เพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตกออกและส่งกลิ่นหอมออกมา แล้วนำไปเสียบไม้ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้งในตอนเช้า แล้วนำน้ำไปเป็นน้ำกระสายยา หรือนำไปคั้นกะทิ หรือทำเป็นน้ำเชื่อมปรุงขนมต่าง ๆ

ดอกแห้งใช้ผสมกับดอกไม้หอมอื่น ๆ สำหรับทำบุหงา




น้ำมันหอมใช้ปรุงเป็นน้ำหอมชั้นสูงที่มีราคาแพง ใช้ปรุงขนม น้ำอบ และอาหาร

น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากดอก (Cananga oil หรือ Ylang-ylang oil) ถูกนำมาใช้ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) ใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอาง หรือทำเป็นเครื่องหอมต่าง ๆ

เปลือกสามารถนำมาทำเป็นเชือกได้


อ้างอิงบทความบางส่วน https://medthai.com/
ประโยชน์ของกระดังงา กระดังงาไทย เกสรช่วยแก้ร้อนใน ดอกทอดน้ำมันมะพร้าวทำเป็นน้ำมันใส่ผมได้หอมดี ประโยชน์ของกระดังงา กระดังงาไทย เกสรช่วยแก้ร้อนใน ดอกทอดน้ำมันมะพร้าวทำเป็นน้ำมันใส่ผมได้หอมดี Reviewed by Dusita Srikhamwong on กรกฎาคม 17, 2562 Rating: 5


ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.