ประโยชน์ของหมากตามตำรายาโบราณ ผลแก่ฝานบางๆใช้รักษาหูด และโรคน้ำกัดเท้า
หลายคนอาจทราบกันดีว่าในสมัยก่อนนั้นคนไทยนิยมกินหมากกันทั่วไปตั้งแต่คนรุ่นหนุ่มสาวไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ และส่วนของหมากที่ใช้กินคือ ผลหมาก นั่นเอง
หมาก มีถิ่นกำเนิดมาจากที่ใด เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัด แต่มีหลักฐานที่พบจะเชื่อถือได้ว่า มีหนังสือเรื่องหมากเขียนขึ้นในสมัยมาร์โคโปโลและมีผู้ค้นพบหนังสือที่เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1593(พ.ศ.2136) โดยให้ชื่อต้นหมากป่าที่พบว่า พินลาง (Pinlang) ซึ่งคำนี้เป็นชื่อเรียกต้นหมาก ในแหลมมลายูและสุมาตราในปัจจุบัน
ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า หมากมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย และในปัจจุบันก็ยังสามารถพบได้ในเขตร้อนหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงบางส่วนของทวีปแอฟริกา เช่นประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
สำหรับประเทศไทย สันนิษฐานกันว่าการปลูกหมากคงจะมีการปลูกนานกว่า 700 ปีมาแล้ว ทั่งนี้เพราะในสมัยกรุงสุโขทัย ได้มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าการปลูกหมากเกิดขึ้นแล้วในสมัยนั้น ซึ่งได้แก่ หลักศิลาจารึก หลักที่ 1
หมาก เป็นพืชวงศ์เดียวกับ ตาล มะพร้าว จาก และลาน ออกผลเป็นทะลายคล้ายมะพร้าว และออกผลช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน มีชื่อสามัญ Areca nut, Areca nut palm, Areca palm, Betel nut palm, Betel Nuts ชื่อวิทยาศาสตร์ Areca catechu L. จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE
หมาก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมากเมีย (ทั่วไป), หมากสง (ภาคใต้), แซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), สีซะ (กะเหรี่ยง-ภาคเหนือ), มะ (ชอง-ตราด), เซียด (ชาวบน-นครราชสีมา), ปีแน (มลายู-ภาคใต้), ปิงน๊อ (จีนแต้จิ๋ว), ปิงหลาง (จีนกลาง) เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณหมาก
ในประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากหมากมาตั้งแต่อดีตแล้ว เช่น เมล็ดใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ เช่น สุนัข ไก่ชน และแกะ ด้วยการนำผลแก่มาบดให้สัตว์กิน ยอดอ่อนของลำต้นสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารจำพวกผักได้ ส่วนจั่นหมากหรือดอกหมากเมื่อยังอ่อนอยู่ก็ใช้รับประทานเป็นอาหารได้เช่นกัน ช่อดอกซึ่งมีกลิ่นหอมจะถูกนำมาใช้ในงานแต่งงานและงานศพ กาบใบนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการทำภาชนะ เครื่องจักสาน หรือวัสดุห่อหุ้มสิ่งของ เช่น ปลอกมีด
ส่วนเนื้อในเมล็ดนำมาใช้ในการผลิตสีย้อมผ้า เปลือกผลนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง หมากใช้ในพิธีทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว เมื่อกรานกฐินมีพนมเบี้ย พนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่ง หมอนนอน บริพารกฐิน โดยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน (ปีละ 2 ล้าน) ซึ่งก็แสดงว่า ในพิธีกรานกฐินต้องมีการจัดพานหมาก ใช้ในพิธีด้วย ในพิธีแต่งงานซึ่งมีการแห่ขันหมาก ก็ต้องจัดพานหมากในพิธีด้วยเช่นกัน
หมากใช้บริโภคเป็นของขบเคี้ยว แต่เดิมคนไทยทั้งชายและหญิงกินหมากกันแทบทุกคน ภายหลังรัฐบาลให้ตัดต้นหมาก ต้นพลูทิ้ง เพื่อให้ประชาชนเลิกกินหมาก ดังนั้น จึงเหลืออยู่แต่คนแก่ที่ยังนิยมกินหมากกันอยู่ นอกจากประเทศไทยซึ่งประชาชนนิยมกินหมากแล้ว ยังมีประเทศไต้หวัน พม่า อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็นิยมกินหมากเช่นกัน และในปัจจุบันยังมีการใช้ประโยชน์จากหมาก ในด้านอุตสาหกรรมอีกด้วย เช่น เมล็ดหมาก เมื่อนำมาสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยาง และสารอัลคาลอยด์ ชื่อ Arecoline ที่มีแทนนิน (Tannin) สูง จึงสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรมและยารักษาโรคได้หลายชนิด ได้แก่ ใช้ทำสีต่างๆ ใช้ย้อมแห อวน ทำให้แหและอวนนิ่มและอ่อนตัว ยืดอายุการใช้งานได้นานเส้นด้ายไม่เปื่อยเร็ว
เป็นยาสมานแผล
เป็นยาขับพยาธิในสัตว์
แก้ท้องเดิน ท้องเสีย
ช่วยขับพิษ
ทาแก้คัน
ขับปัสสาวะ
แก้ปากเปื่อย
ช่วยสมานแผลทำให้เลือดหยุดไหล และแผลหายเร็ว
ทำให้เหงือกและฟันแข็งแรง
ยับยั้งการไหลของหนองเวลาเป็นแผล
แก้ปวดแน่นท้อง
เป็นยาเบื่อพยาธิตัวตืด ฆ่าพยาธิบาดแผล
รักษาน้ำกัดเท้า
ช่วยขับน้ำในกระเพาะลำไส้ และช่วยในการย่อยอาหาร
ช่วยลดอาการบวมน้ำ
ช่วยบำรุงธาตุ
รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้
ใช้เป็นยาแก้โรคเบาหวาน ด้วยการใช้หมากที่กินกับพลูแบบสด 1 ลูก นำมาผ่าเป็น 4 ซีก ต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือดหรือประมาณ 10 นาที ใช้ดื่มก่อนอาหารครั้งละครึ่งแก้วเช้า กลางวัน และเย็น เมื่อนำตาลในเลือดลดลงก็ให้นำมาต้มดื่มแบบวันเว้นวันได้
แก้พิษผิดสำแดงโดยใช้ รากหมากใช้ผสมกับรากมะพร้าว รากมะกอก รากมะปรางเปรี้ยว รากมะปรางหวาน ลูกกระจับน้ำ ลูกบัวหลวง เกสรบัวหลวง และหัวแห้วต้มกิน
รากหมากนำมาต้มกับน้ำเป็นยาแก้พิษร้อนภายใน แก้พิษไข้ร้อน หรือจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินและอาบเป็นยาแก้ไข้ แก้หวัดก็ได้
ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ ด้วยการใช้เนื้อในผลหมาก นำมาบดให้เป็นผง โดยใช้ประมาณ 50-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินในขณะท้องว่าง
เมล็ดเป็นยาสมานทั้งภายนอกและภายใน ช่วยสมานแผลทำให้เลือดหยุดไหล และแผลหายเร็ว ด้วยการใช้เมล็ดหรือเนื้อหมากสดนำมาปิดบริเวณบาดแผล
เมล็ดใช้ฝนทารักษาแผลเน่าเปื่อย แผลเป็น ช่วยฆ่าพยาธิบาดแผล ขจัดรอยแผลเป็น
ใช้รักษาหูด ด้วยการใช้ผลดิบ 1 ผล (ผลหมากที่สุกแก่แต่ยับดิบอยู่) นำมาฝานเอาเนื้อในออกมาเป็นชิ้น ๆ เหมือนการเตรียมหมากเพื่อกิน หลังจากนั้นนำไปย่างไฟให้ร้อน แล้วรีบนำมาพอกทับปิดที่หัวหูดทันที จะช่วยทำให้หัวหูดหลุดลอกออกมาได้ ช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้า ด้วยการนำผลหมากมาผ่าเป็น 4 ซัก แล้วใช้ทั้งเปลือกและเนื้อในถูทาบริเวณที่ถูกน้ำกัดเท้าจนเกิดแผลบ่อย ๆ ทุกวัน
นอกจากนี้ในตำรายาโบราณได้กล่าวไว้ว่า หากนำเอาเนื้อของผลหมากและเมล็ดฟักทองมาต้มรวมกับน้ำตาลทราย ดื่มพร้อมกับน้ำจะช่วยในการขับพยาธิชนิดต่างๆ เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ และพยาธิตัวกลมได้เป็นอย่างดี หรือหากนำผลหมากสุกมาต้มกินกับน้ำแล้ว จะช่วยป้องกันอาการของโรคต้อหินหรือความดันภายในลูกตาเพื่อไม่ให้สูงผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังสามารถ ช่วยขับปัสสาวะได้อีกด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของตัวรับบนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลของเมล็ดหมากแก่ จากรายงานการวิจัยที่ระบุว่า พฤติกรรมการเคี้ยวหมากทำให้เกิดโรคภายในช่องปากได้มากขึ้น และสารสกัดของเมล็ดหมาก (Areca catechu L.) มีฤทธิ์ยับยั้งกลไกการป้องกันตัวของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ได้แก่ กระบวนการฟาโกไซโทซีส (phagocytosis) ของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (neutrophils) จึงมีการนำสารสกัดน้ำจากเมล็ดหมากแก่แห้ง (Areca Nut Extract; ANE) มาศึกษาถึงกลไกการออกฤทธิ์และผลต่อตัวรับคอมพลีเมนต์ (complement receptors) และตัวรับเอฟซี (Fc receptors) ที่อยู่บนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล ซึ่งตัวรับทั้งสองชนิดมีหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นระบบภูมิคุมกันของร่างกาย รวมทั้งศึกษาผลของสารสกัดต่อ F-actin ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของเซลล์เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย จากผลการทดลองพบว่า สารสกัด ANE มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างตัวรับคอมพลีเมนต์ (CR1, CR3 และ CR4) และตัวรับเอฟซี (FcγRII และ FcγRIII) โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ และ ANE ยังทำให้กระบวนการฟาโกไซโทซีสลดลง รวมทั้งยับยั้งการแสดงออกของ F-actin ด้วย ทำให้สามารถสรุปได้ว่า ANE มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในช่องปาก
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาทางเภสัชวิทยาระบุว่าสารสกัดในเมล็ดหมาก สามารถยับยั้งเชื้อที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ และยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการเจริญของเชื้อโรคเอดส์ในหลอดทดลองได้
การศึกษาทางพิษวิทยา มีรายงานความเป็นพิษของเมล็ดทำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ เนื้องอกและมะเร็ง โดยพบว่าคนที่กินหมากมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในช่องปากมากกว่าคนปกติ
และยังมีรายงานว่าการเคี้ยวหมากอาจทำให้เกิดอาการลิ้นและเหงือกเป็นฝ้าขาว เกิดเส้นใยใต้เยื่อเมือกและการเกิดมะเร็งในช่องปาก ในที่สุดซึ่งน่าจะมาจากสาร Cytotoxic และ Teratogenic N- nitrosamines
ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ได้พบหลักฐานว่า การกินหมากมากเป็นประจำจะทำให้คนกินเป็นโรคมะเร็งปาก เพราะหมากมีสารก่อมะเร็งที่เหมือนกับบุหรี่หลายตัว และจากการสำรวจยังพบว่า การกินหมากจะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจ โรคหืด และโรคเบาหวานได้อีกด้วย โดยเฉพาะ 90% ของคนที่กินหมากมักจะเป็นมะเร็งช่องปาก เนื่องจากพิษหมากไปทำให้เยื่อเมือกในเซลล์ปากเปลี่ยนแปลง จนในที่สุดแก้มจะแข็ง ทำให้ผู้ป่วยอ้าปากไม่ได้
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง
การเคี้ยวหมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี อาจก่อให้เกิดมะเร็งในช่องปากได้
สาร Arecoline ที่พบในเมล็ดหมาก มีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของหัวใจ แรงดันโลหิต ปริมาณของน้ำตาลกลูโคสในสมองดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการใช้
ในการใช้หมากเพื่อต้องการสรรพคุณทางยานั้นควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น ถ้าเป็นเนื้อในผล ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม ส่วนเปลือกผล ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 6-20 กรัม ถ้าใช้เป็นยาขับถ่ายพยาธิ ให้ใช้
เนื้อผลได้ถึง 50-80 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินตอนท้องว่างหรือบดเป็นผงกิน และไม่ควรใช้เกินขนาดที่ระบุ รวมถึงใช้เป็นระยะเวลานานจนเกินไป
เอกสารอ้างอิง
วิทยา บุญวรพัฒน์. “หมาก”. หน้า 612.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.
การปลูกหมากเพื่อการค้า.เอกสารวิชาการ.กลุ่มไม้ยืนต้นอุตสาหกรรมกองส่งเสริมพืชสวน.กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.55 หน้า
ฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของตัวรับบนเมล็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลของเมล็ดหมากแก่.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “หมาก (Mak)”. หน้า 328.หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.
หมาก.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=143
ที่มา...https://www.disthai.com/
ประโยชน์ของหมากตามตำรายาโบราณ ผลแก่ฝานบางๆใช้รักษาหูด และโรคน้ำกัดเท้า
Reviewed by Dusita Srikhamwong
on
กรกฎาคม 07, 2562
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: