ต้นดอกรัก ดอกรัก ดอกไม้ใช้ร้อยมาลัย ดอกสดตากแดดแห้งชงชาดื่มแก้ไอ หวัด และหอบหืด
ต้นรัก (Crown flower) ชื่อวิทยาศาสตร์ Calotropis gigantea (L.) Dryand. ดอกของพืชชนิดนี้เรียกว่า ดอกรัก โดยสีขาว สีม่วง หรือสีม่วงแดง (สีขาวอมม่วงก็มี) นิยมนำไปใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งยังถือเป็นไม้มงคลที่คนไทยแทบทุกคนเคยเกี่ยวข้องด้วย (ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม) สามารถออกดอกและติดผลได้ตลอดปี แต่จะออกมากในช่วงฤดูร้อน (หมอยาพื้นบ้านของไทยจะเรียกต้นรักที่มีดอกสีม่วงว่า "ต้นธุดงค์")
ต้นรัก เป็นพืชพื้นเมืองของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย ศรีลังกา อินเดีย และจีน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า รักขาว รักเขา รักซ้อน (เพชรบูรณ์), ปอเถื่อน ป่านเถื่อน (ภาคเหนือ), รัก รักดอก รักดอกขาว รักดอกม่วง (ภาคกลาง), รักร้อยมาลัย, รักแดง เป็นต้น
ดอกรัก นับว่าเป็นสินค้าอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยต้องการใช้ตลอดปี เพราะนำมาใช้ในการร้อยพวงมาลัย บางพื้นที่มีการปลูกต้นรักเอาไว้เก็บดอกเพื่อนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยไว้ขายเองโดยเฉพาะ โดยมักจะปลูกร่วมกับต้นมะลิ เพราะต้องใช้ประกอบเป็นพวงมาลัยที่คนไทยคุ้นเคยกันมากที่สุด และดอกยังสามารถนำมาใช้ทำดอกไม้ประดิษฐ์ได้อีกด้วย ส่วนผลรัก ออกผลเป็นฝักติดกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของฝักเป็นรูปรีโค้ง ปลายฝักแหลมงอ ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก และสามารถปลิวไปตามลมได้ไกล
และในพิธีงานแต่งของคนไทยภาคกลาง นอกจากเราจะใช้ดอกรักนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยสวมให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวแล้ว ก็ยังใช้ใบของต้นรักนำมารองก้นขันใส่สินสอดและขันใส่เงินทุนที่ให้แก่คู่สมรสอีกด้วย สำหรับชาวฮาวายถือว่ามาลัยดอกรักที่นำมาทำเป็นสร้อยคอ (lei) คือ สัญลักษณ์ของความเป็นกษัตริย์
สรรพคุณของต้นรัก
ดอกมีรสเฝื่อน สรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยในการย่อย ช่วยแก้อาการไอ อาการหวัด แก้หอบหืด (ดอก)
วิธีและปริมาณที่ใช้ ใช้ดอกสดตากแดดให้แห้ง ประมาณ 1-2 กรัม นำมาชงเป็นชาดื่ม วันละ 1-2 ครั้ง
ต้นมีรสเฝื่อนขม มีสรรพคุณช่วยบำรุงทวารทั้งห้า (ต้น)
ยางจากต้นเป็นยาแก้อาการปวดหู ปวดฟัน (ยางขาวจากต้น)
รากใช้เป็นยาแก้ไข้ (ราก) แก้ไข้เหนือ (ราก)
ช่วยทำให้อาเจียน (เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก)
ช่วยขับเหงื่อ (ราก, เปลือกราก)
เปลือกรากมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะได้ (เปลือกราก)
ใช้เป็นยารักษาโรคบิด (ราก, เปลือกราก) แก้บิดมูกเลือด (ราก)
ยางขาวจากต้นมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (ยางขาวจากต้น)
ใช้เป็นยาขับพยาธิ โดยใช้ยางขาวจากต้นนำมาทาตัวปลาช่อนแล้วย่างไฟให้เด็กกินเป็นยาเบื่อพยาธิไส้เดือน (ยางขาวจากต้น)
ช่วยแก้ริดสีดวงในลำไส้ (ยางขาวจากต้น)
ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ)
ยางขาวจากต้นมีฤทธิ์เป็นยาขับเลือด ทำให้แท้งได้ (ยาง)
เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (เปลือกต้น)
ยางไม้ใช้ใส่แผลสดเป็นยาฆ่าเชื้อ (ยางขาวจากต้น)
ช่วยแกคุดทะราด (ใบ)
ช่วยแก้กลากเกลื้อน (ยางขาวจากต้น,ดอก)
น้ำยางจากต้นใช้รักษาโรคเรื้อน (ยางขาวจากต้น)
ผลหรือฝัก ใช้แก้รังแคบนหนังศีรษะ (ผล)
ใบสดใช้เป็นยาพอกเพื่อบรรเทาอาการของโรคไขข้อ (ใบ)
พิษของต้นรัก
ยางจากต้นรักเป็นอันตรายต่อผิวหนังและดวงตา ดังนั้นในการเก็บเกี่ยวดอกรัก จึงต้องแต่งกายอย่างรัดกุมมิดชิด สวมถุงมือยาง แว่นตา และใช้ผ้าปิดปากและจมูก
ยางและใบมีสารพิษ Digitalis ซึ่งออกฤทธิ์เป็นพิษต่อหัวใจและเลือด ทำให้มีอาการระคายเคืองเยื่อบุปากและกระเพาะอาหารก่อน แล้วตามด้วยอาการอาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเดิน และปวดท้อง ถ้ารับประทานเข้าไปมากและล้างท้องไม่ทัน สารพิษจะถูกดูดซึมผ่านลำไส้และแสดงความเป็นพิษต่อหัวใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับชนิดของไกลโคไซด์
วิธีการรักษาพิษ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อทำการล้างท้อง และรักษาไปตามอาการ และถ้าจาก EKG พบว่ามี Ventricular tachycardia ควรให้ potossium chloride (5-10 g) หรือให้ K+ (80 mEq/L) ถ้ามีอาการเจ็บแขนก็อาจจะช่วยด้วยการนวดและประคบน้ำร้อน
อ้างอิงข้อมูลจาก https://medthai.com/
ต้นดอกรัก ดอกรัก ดอกไม้ใช้ร้อยมาลัย ดอกสดตากแดดแห้งชงชาดื่มแก้ไอ หวัด และหอบหืด
Reviewed by Dusita Srikhamwong
on
สิงหาคม 06, 2562
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: